เทพเจ้ากรีกโรมัน
ตำนานเทพเจ้าโรมัน หรือ ตำนานเทพเจ้าละติน (อังกฤษ: Roman mythology หรือ Latin mythology) หมายถึง ความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าของผู้ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในลาติอุมและเมืองสำคัญๆ ในคาบสมุทรอิตาลีของโรมันโบราณ ที่อาจจะแบ่งได้เป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งที่เป็นความเชื่อสมัยต่อมาและความเชื่อทางวรรณกรรมที่ประกอบด้วยความเชื่อที่มาจากตำนานเทพเจ้ากรีก อีกส่วนหนึ่งเป็นความเชื่อเดิมที่เกิดขึ้นก่อนหน้าอิทธิพลกรีกที่มีลักษณะที่ค่อนข้างจะแตกต่างกับตำนานเทพเจ้ากรีกในสมัยต่อมาและมีตำนานมากมายซึ่งพอที่จะสามารถรวบรวมได้ดังนี้
ความเชื่อสมัยแรก
โรมันไม่มีบทบรรยายเกี่ยวกับเทพเจ้าที่เทียบเท่ากับเรื่องราวของ “สงครามไททัน” (Titanomachy) หรือ การล่อลวงซูสโดยเทพีเฮราเช่นเดียวกับของกรีก จนกระทั่งกวีโรมันเริ่มนำโครงสร้างของกรีกมาใช้ในตอนปลายสมัยสาธารณรัฐโรมัน แต่สิ่งที่โรมันมีคือ ระบบอันมีโครงสร้างที่แน่นหนาของ ประเพณีการทำพิธี, วิทยาลัยนักบวช และ ระบบกลุ่มทวยเทพที่เกี่ยวข้องกัน (pantheons of related gods) ตำนานที่เต็มไปด้วยมนต์ขลังทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการก่อตั้งและความรุ่งเรืองของเมืองต่างๆ โดยบุคคลต่างๆ ที่บางครั้งก็กล่าวกันว่าได้รับความช่วยเหลือจากเหล่าทวยเทพ
โครงสร้างของความเชื่อ การให้คำนิยาม และความคิดที่เกี่ยวกับเทพเจ้าของโรมันค่อนข้างจะแตกต่างเป็นอันมากจากของกรีก ตัวอย่างเช่นถ้าถ้าถามชาวกรีกเกี่ยวกับเทพีดีมีเทอร์ก็อาจจะได้รับคำตอบเป็นเรื่องราวที่เป็นที่รู้จักกันถึงความโศรกเศร้าของดีมีเทอร์ขสกการลักตัว เพอร์เซฟะนีโดยเฮดีส แต่ชาวโรมันโบราณจะเล่าว่าเทพีเซเรสมีนักบวชที่เรียกว่า ฟลาเมนผู้มีอาวุโสน้อยกว่าฟลาเมนของเทพจูปิเตอร์, เทพมาร์ส และ เทพควิรินัส แต่อาวุโสมากกว่าฟลาเมนของเทพีฟลอรา และ เทพีโพโมนา และอาจจะบอกต่อไปว่าเป็นเทพีหนึ่งในกลุ่มเทพีสามองค์ของการเกษตรกรรม และยิ่งกว่านั้นก็อาจจะสามารถลำดับกลุ่มเทพรองที่มีหน้าที่เฉพาะในการเป็นบริวารของเทพีดีมีเทอร์ ที่รวมทั้งซาร์ริทอร์ (ผู้กำจัดวัชพืช), เมสซอร์ (เทพแห่งการเก็บเกี่ยว), คอนเว็คเตอร์ (เทพแห่งการขนผลผลิตจากการเก็บเกี่ยว), คอนดิทอร์ (เทพแห่งการกักตุนเสบียง), อินซิทอร์ (เทพแห่งการหว่าน) และเทพอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันอีกเป็นอันมาก ซึ่งไม่ใช่การบรรยายเป็นเรื่องๆ เป็นราว แต่เป็นการลำดับเทพตามอันดับของความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน และ ของความสัมพันธ์ระหว่างเทพกับมนุษย์
ศาสนาดั้งเดิมของโรมันในสมัยแรกๆ ได้รับการขยายพัฒนาต่อมาโดยการเพิ่มเติมความเชื่ออีกมากมายที่บางครั้งก็ขัดแย้งกันเอง และโดยการผสานตำนานเทพเจ้ากรีกเข้ามาเป็นอันมาก ความรู้เกี่ยวกับศาสนาของโรมันโบราณเท่าที่ยังหลงเหลืออยู่มิได้มาจากนักเขียนร่วมสมัยแต่เป็นความรู้ที่ได้มาจากนักเขียนในสมัยต่อมาที่พยายามแสวงหาประเพณีโบราณสิ่งที่สูญหายไป เช่นจากนักปราชญ์มาร์คัส เทอเรนเชียส วาร์โรในคริสต์ศตวรรษที่ 1 นักเขียนคลาสสิคผู้อื่น เช่นกวีโอวิด ใน “ปฏิทิน” (Fasti) ได้รับอิทธิพลเป็นอันมากจากโครงสร้างของอารยธรรมเฮเลนนิสติค ที่มักจะใช้ความเชื่อของกรีกในการปิดช่องว่างที่มีอยู่ของความเชื่อโรมันในงานเขียนของตนเอง
ตรงกันข้ามกับการบรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับเทพต่างๆ โรมันจะมีตำนานมากมายที่เกี่ยวกับการก่อตั้งและความรุ่งเรืองของเมืองต่างๆ นอกไปจากเรื่องราวที่เล่าขานกันตามท้องถิ่น ก็มีการเพิ่มเติมตำนานวีรบุรุษของกรีกที่ปะติดปะต่อกับตำนานพื้นบ้านโรมันมาตั้งแต่สมัยแรก ตัวอย่างเช่น อีเนียสของโรมันก็ถูกดึงไปเป็นสามีของลาวิเนียพระราชธิดาของกษัตริย์ลาตินัสผู้เป็นบรรพบุรุษของชนละติน ฉะนั้นจึงเป็นบรรพบุรุษของรอมิวลุส และ รีมุส เพราะเหตูนี้ตำนานเกี่ยวกับโทรมันจึงกลายเป็นตำนานลึกลับเกี่ยวกับบรรพบุรุษของชาวโรมัน ซึ่งเป็นสาเหตุให้ทหารม้าโรมันแต่งเครื่องแบบที่มาจากภาพวาดของโทรจัน กวีนิพนธ์ “เอนิอิด” (Aeneid) และ หนังสือสองสามเล่มแรกโดยนักประวัติศาสตร์โรมันลิวี” (Livy) เป็นแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดเกี่ยวกับปรัมปราวิทยาของมนุษย์ดังกล่าว
ประเพณีปฏิบัติต่างๆ โดยนักบวชของทางการของโรมันก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างความแตกต่างของเทพสองระดับ “di indigetes” และ “di novensides”/“novensiles” กลุ่ม “di indigetes” หมายถึงทวยเทพดั้งเดิมของโรมัน ชื่อและรายละเอียดของเทพกลุ่มนี้ระบุด้วยตำแหน่งของนักบวชรุ่นแรกที่สุดและโดยวันเทศกาลที่เฉพาะเจาะจงที่มีด้วยกัน 30 องค์ที่มีเทศกาลที่ระบุอย่างเฉพาะเจาะจง ส่วน “di novensides”/“novensiles” คือเทพรุ่นต่อมาที่เข้ามาตามเมืองต่างๆ ในภายหลัง และมักจะทราบเวลาที่เข้ามาตามความจำเป็นของสถานการณ์หรือวิกฤติการณ์ ทวยเทพดั้งเดิมนอกไปจาก “di indigetes” เป็นกลุ่มทวยเทพที่เรียกว่า “เทพเฉพาะกิจ” เช่น เทพแห่งการเก็บเกี่ยว เศษชิ้นส่วนจากประเพณีที่เกี่ยวข้องกับกิจการต่างๆ เช่น การไถหรือการหว่านทำให้เราทราบว่ากระบวนการทุกขั้นตอนของกิจการของโรมันต่างก็มีเทพเฉพาะกิจต่างๆ กันไป ชื่อของเทพก็จะมาจากคำกิริยาของกิจการที่กระทำ
เทพเหล่านี้ก็จะจัดเป็นกลุ่มภายใต้กลุ่มกว้างๆ หรือ กลุ่มเทพสนับสนุน (attendant หรือ auxiliary gods) ผู้ที่จะได้รับการกล่าวนามพร้อมกับเทพระดับสูง
เทพเฉพาะกิจและเทศกาลที่เกี่ยวข้องทำให้ทราบว่าชาวโรมันสมัยแรกนอกจากจะเป็นกลุ่มชนที่เป็นสังคมเกษตรกรรม แต่ยังเป็นสังคมที่นิยมการต่อสู้ และ มักจะนิยมการทำสงคราม นอกจากจะมีเทพเฉพาะกิจในด้านการเกษตรแล้วชาวโรมันก็ยังมีเทพเฉพาะกิจในกิจการประจำวันที่ต้องทำการสักการะบูชาตามความเหมาะสมด้วย ฉะนั้นเทพแจนัส และ เทพีเวสตาก็จะเป็นผู้รักษาประตูและเตาผิง, เทพลารีสพิทักษ์ที่ดินและบ้าน, เทพพาลีสพิทักษ์ท้องทุ่ง, เทพแซทเทิร์นพิทักษ์การหว่าน, เทพีเซเรสพิทักษ์การเจริญเติบโตของธัญพืช, เทพีโพโมนาพิทักษ์ผลไม้ และ เทคอนซัสพิทักษ์ธัญญาหารและสถานที่เก็บรักษาธัญญาหาร และ เทพีอ็อพสพิทักษ์การเก็บเกี่ยวและเป็นเทพีแห่งการเจริญพันธุ์ แม้แต่เทพจูปิเตอร์ผู้เป็นประมุขของทวยเทพก็ยังทรงเป็นเทพที่ช่วยให้ฝนตกเพื่อช่วยในการเกษตรกรรม และคุณลักษณะทั่วไปของพระองค์จากการที่ทรงมีสายฟ้าเป็นอาวุธทำให้ชื่อว่าเป็นผู้อำนวยการของกิจการที่มนุษย์กระทำ และการที่ทรงมีอำนาจอันยิ่งใหญ่และกว้างขวางทำให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์กิจการทางทหารของชาวโรมันที่นอกไปจากในบริเวณเขตแดนของตนเอง เทพเจ้าสำคัญในสมัยแรกก็ได้แก่ เทพมาร์ส และ เทพควิรินัส ผู้มักจะเป็นเทพในกลุ่มเดียวกัน เทพมาร์สเป็นเทพเจ้าแห่งการสงครามที่ทำการฉลองกันในเดือนมีนาคมและตุลาคม ส่วนเทพควิรินัส โดยนักวิชาการสมัยใหม่เชื่อว่าเป็นเทพเจ้าแห่งประชาคมผู้ถืออาวุธในยามสันติ
ในกลุ่มเทพของสมัยแรกก็มี ไตรเทพ (triad) ที่สำคัญคือ เทพจูปิเตอร์, เทพมาร์ส และ เทพควิรินัส เทพในสมัยแรกมักจะไม่มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่สำคัญ และประวัติก็ไม่มีเรื่องราวของการสมรสหรือบรรพบุรุษ ซึ่งไม่เหมือนกับเทพเจ้ากรีกเพราะจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์เดินดิน ฉะนั้นจึงแทบจะไม่มีเรื่องราวของกิจการที่กระทำ
เทพจากต่างแดน
เมื่อจักรวรรดิโรมันขยายตัวออกไปก็นำเอาประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าของบ้างเมืองต่างๆ เข้ามาผสมผสานกับเทพเจ้าของโรมันเอง ชาวโรมันที่ไปทำการพิชิตดินแดนต่างๆ ก็มักจะให้เกียรติแก่เทพเจ้าของท้องถิ่นที่ทำการพิชิตได้ในระดับเดียวกับเทพเจ้าเดิมของโรมันเอง และในบางกรณีชาวโรมันก็จะอัญเชิญเทพเจ้าจากต่างแดนเข้ามาพำนักในเทวสถานในกรุงโรมที่จัดตั้งให้
ตำนานเทพเจ้ากรีก เป็นเรื่องเล่าที่เป็นบทกวีและตำนานที่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้า, วีรบุรุษ, ธรรมชาติของโลก และจุดกำเนิดและความสำคัญของวิถีปฏิบัติและพิธีในทางศาสนาของพวกเขา ตำนานเทพเจ้ากรีกเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาในกรีซโบราณ นักวิชาการสมัยใหม่กล่าวถึงเรื่องปรัมปราและศึกษาในความพยายามที่จะอธิบายสถาบันทางศาสนาและการเมืองในกรีซโบราณ อารยธรรม และเพิ่มความเข้าใจของธรรมชาติในการสร้างตำนานขึ้น
ตำนานเทพเจ้ากรีกได้ถูกรวบรวมขึ้นโดยการแสดงออกมาของถ้อยบรรยายและศิลปะดำเนินการแทนเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น การระบายสีแจกันและของแก้บน ตำนานกรีกอธิบายถึงการถือกำเนิดขอโลกและรายละเอียดของชีวิต รวมทั้งการผจญภัยของบรรดาเทพ เทพี วีรบุรุษ วีรสตรี และสิ่งมีชีวิตในตำนานอื่น ๆ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ได้สืบทอดโดยบทกวีจากปากต่อปากเท่านั้น ในปัจจุบัน ตำนานกรีกได้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในวรรณกรรมกรีกเป็นส่วนใหญ่
เทพเจ้ากรีก-โรมันมีมากมายหลายสิบองค์และเหล่าเทพบางองค์มีความสัมพันธ์กับทั้งเทพและมนุษย์ จึงเกิดทายาทเป็นทั้งมนุษย์และอมนุษย์อีกนับไม่ถ้วน สามารถเขียนแผนภูมิต้นไม้หรือ Family Tree ของ เทพเจ้าได้ แผนภูมิต้นไม้นี้แสดงถึงต้นกำเนิดของเทพแต่ละองค์ว่ามาจากไหน ใครเป็นผู้ให้กำเนิดและยังโยงต่อไปได้อีกว่าใครเป็นลูกหลาน แล้วโยงต่อไปอีกเรื่อยๆ ไม่มีจุดจบดังรากไม้ จึงมีอีกวิชาที่เกิดขึ้นคือ Genealogy of Greek-Roman Mythology เป็นการศึกษาแผนภูมิต้นตระกูลของเหล่าเทพและบรรดาทายาทของเหล่าปวงเทพทั้งหลาย
ข้อสันนิษฐานของที่มาของการเกิดเทวตำนานเทพเจ้ากรีก-โรมัน
นักวิชาการหลายท่านได้บอกไว้ว่าอาจเป็นเพราะชาวกรีกโบราณพยายามหาคำตอบให้กับตัวเองว่าทำไมฟ้าร้อง ฟ้าผ่า หรือเหตุใดจึงมีเสียงสะท้อนจากถ้ำเมื่อเราส่งเสียง ฯลฯ นั่นเป็นเพราะความกลัวปรากฏการณ์ธรรมชาติจึงพยายามหาเหตุผลและชาวกรีกชอบฟังนิทานเรื่องเล่า, ชอบแต่งโคลงกลอน จึงรักการขับลำนำและดีดพิณคลอไปด้วยจึงทำให้การขับลำนำเป็นที่นิยม เล่ากันว่าโฮเมอร์ (Homer)นักแต่งกลอนในตำนานชาวกรีก ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้แต่งมหากาพ์ยอีเลียด และ โอดิสซีย์ ชาวกรีกโบราณเชื่อกันว่าโฮเมอร์เป็นนักประวัติศาสตร์ แต่นักวิชาการในปัจจุบันกลับมองโฮเมอร์ด้วยความรู้สึกสงสัย เพราะเป็นข้อมูลชีวประวัติที่สืบต่อกันมายาวนานมาก อีกทั้งตัวกาพ์ยเอง ก็ถูกเล่าแบบปากต่อปากมานานนับศัตวรรษ และถูกแก้ไขใหม่อย่างดีจนกลายมาเป็นกวี มาติน เวสต์เชื่อว่า "โฮเมอร์"ไม่ใช่นามของกวีในประวัติศาสตร์ แต่เป็นเพียงชื่อที่ถูกสร้างขึ้นมาเท่านั้น
ช่วงเวลาที่โฮเมอร์มีชีวิตนั้นเองก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มาแต่โบราณและจนถึงทุกวันนี้ เฮโรโดตุสอ้างว่าโฮเมอร์เกิดก่อนเขาประมาณ ๔๐๐ปี ซึ่งน่าจะเป็นช่วงประมาณ 850 ปีก่อนคริสต์กาล แต่ว่าแหล่งอ้างอิงโบราณอื่น ๆ กลับให้ข้อมูลที่ซึ่งใกล้เคียงกับเวลาที่น่าจะเกิดสงครามเมืองทรอยมากกว่า ซึ่งช่วงเวลาที่อาจจะเกิดสงครามเมืองทรอยนั้น เอราทอสเทนีส กล่าวว่าเกิดในช่วง 1194–1184 ก่อนคริสตกาล ซึ่งใคร ๆ ก็รักน้ำเสียงการเล่านิทานของเขาแรกเริ่มเทว ตำนานเป็นบทกลอนที่ท่องจำกันมาเป็นรุ่น ๆ ต่อมามีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร จึงไม่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้แต่งตำนานเทพเจ้า บ้างก็ว่า โฮเมอร์ เป็นผู้แต่ง อีเลียด บ้างก็ว่าแค่รวบรวม บ้างก็ว่ากวีกรีกนาม เฮซิออด (Hesiod) แต่ง ส่วน โอวิด (Ovid) หรือที่รู้จักในชื่อภาษาอังกฤษว่า โอวิด (Ovid) เกิดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ในปีที่ 43 ก่อนคริสตกาล เสียชีวิตในปี ค.ศ. 17 เป็นกวีชาวโรมันผู้มีชื่อเสียงทัดเทียมกับ เวอร์จิล และ โฮราซ นับเป็นหนึ่งในสามกวีเอกผู้เป็นเสาหลักในวรรณกรรมละติน เขาเขียนผลงานในเรื่องต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับความรัก หญิงผู้ถูกทอดทิ้ง และชำนาญในการดัดแปลงนิยายผลงานของเขาส่งอิทธิพลต่องานศิลปะและวรรณกรรมในยุโรปต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายศตวรรษกวีโรมก็เล่าถึงเทวตำนานแต่ใช้ชื่อตัวละครต่างกัน เล่มของโอวิดจะเล่าได้พิสดารกว่าของนักเขียนคนอื่น
เทพเจ้ากรีก-โรมัน แห่งยอดเขาโอลิมปัส
เทพโอลิมปัส
เทพโอลิมปัส (The Olympians, Major gods) เป็นเทพที่อาศัยบนยอดเขาโอลิมปัส (Olympus) มีทั้งหมด 12 องค์ แต่ถ้านับอย่างถี่ถ้วนจะมีทั้งสิ้น 16 องค์ ในบางตำราวันจึงแนะนำให้ครบทั้งหมดซึ่งมีทังหมดดังนี้
1. ซุส (Zeus) (ซีอุส/จูปิเตอร์) เป็นราชาของบรรดาเทพเจ้าทั้งหลายและเหล่ามนุษย์บนโลก ซุสมีอาวุธเป็น Thunderbolt (อัศนีบาต) เทพซุสมีพี่น้องซึ่งเป็นเทพปกครองโลกร่วมกัน 5 องค์ ได้แก่ เทพโพไซดอน เทพีดีมิเทอร์ เทพีเฮร่า เทพฮาเดส และเทพีเฮสเทีย
2. โพไซดอน (Poseidon) เทพเจ้าแห่งท้องทะเล สัญลักษณ์ของพระองค์คือ “สามง่าม” หรือ “ตรีศูล” เทพผู้เขย่าพื้นพิภพ ผู้บัลดาลให้เกิดพายุ บิดาแห่งม้า
3. ดิมิเทอร์ (Demeter) เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรรม การเก็บเกี่ยว
4. เฮรา (Hera) ราชินีแห่งสวรรค์ เป็นทั้งพี่สาวของซุสและเป็นภรรยาด้วย เฮร่าเป็นเทพีแห่งการให้กำเนิดทารก การสมรส สตรี การสมรสสัตว์ประจำพระองค์คือนกยูง
5. เฮสเทีย (Hestia) เทพีพรมจรรย์แห่งการครองเรือน เทพแห่งครอบครัว ในฐานะของเทพีผู้รักษาบ้าน พระนางเป็นผู้ที่สร้างบ้านขึ้นเป็นคนแรก วิหารของพระนางอยู่ที่กรุงโรม ซึ่งจะได้รับการบวงสรวงจากสาวพรหมจารี พระนางมีสัญลักษณ์เป็นไฟนิรันดร
6. แอรีส (Ares) เทพแห่งสงคราม บุตรของ ซูส กับ เฮร่า สัตว์ประจำพระองค์คือเหยี่ยวและสุนัขมังกรไฟ (บางตำราเล่าว่าเป็นนกแร้ง) เทพองค์นี้มีเทพที่เป็นน้องสาว ชื่อว่า อีริส เธอคือเทพีแห่งการวิวาท
7. อะพอลโล (Apollo) เทพเจ้าแห่งการทำนาย กีฬา การรักษาโรคภัย การดนตรี และ เป็นเทพแห่งพระอาทิตย์ เป็นบุตรแห่ง ซีอุส และ เทพีเลโต (Leto) มีน้องสาวฝาแฝดชื่อ อาร์เทมิส (Artemis) อะพอลโล่มีต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์คือ ต้นลอเรล Laurel สัตว์ศักดิ์สิทธิ์คือนกกาเหว่าและห่าน เครื่องดนตรีประจำพระองค์คือพิณ วิหารศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์อยู่ที่เดลฟี่ Delphi ซึ่งที่นั่นจะมีนักบวชคอยบอกคำทำนายของพระองค์ให้แก่ประชาชนที่มาสักการบูชา
8. อาร์เทมีส (Artemis) เทพีแห่งดวงจันทร์และการล่าสัตว์ เป็นบุตรีของซูสและ เทพีเลโต เป็นน้องสาวแฝดของอะพอลโล่ พระองค์เป็นเทพีพรหมจรรย์องค์หนึ่งใน 3 องค์ ภาพที่ผู้คนเห็นอยู่เสมอๆ คือพระองค์จะถือธนูและศร มีสุนัขติดตาม สวมกระโปรงสั้น บางครั้งอาจเห็นเธออยู่บนรถศึกเทียมด้วยกวางขาว
9. เฮอร์มีส (Hermes) เทพแห่งการค้า การโจรกรรม และผู้ส่งสารของเหล่าทวยเทพทั้งหลาย เป็นบุตรของ ซูส กับ เทพธิดาไมอา เทพไททัน พระองค์มักจะปรากฏกายในลักษณะสวมหมวกขอบกว้าง สวมรองเท้ามีปีก ถือคทาที่มีงูพัน ชื่อ คะดูเซียสซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการแพทย์
10. อาธีน่า (Athena) หรืออีกนามหนึ่ง มิเนอร์วา Minerva เทพีแห่งความเฉลียวฉลาด และศิลปศาสตร์ทุกแขนงของกรีกรวมถึงศิลปะการต่อสู้ด้วย ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์คือต้นมะกอกและเทพีอธีน่า เป็นผู้ที่มอบมะกอกให้กับมนุษย์เป็นองค์แรก ทำให้เมือง Athens ได้ใช้ชื่อของพระองค์เป็นชื่อเมืองเพื่อเป็นเกียรติ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของเธอได้แก่ นกฮูก
11. อะโฟรไดท์ (Aphrodite )“ไคพริส” (Kypris) , “ไซธีเรีย” (Cytherea ) ในบางตำรา , อาโฟร์ไดร์ทิ(ในภาษาอังกฤษ) เป็นเทพีแห่งความรักและความงาม เป็นบุตรีของ ซูส กับ เทพีไดโอนี่ (บางตำราว่าเกิดจากฟองคลื่นเพราะชื่อของนางคำว่าอาโฟร์ไดร์ทิ ก็หมายถึง เกิดขึ้นจากฟองน้ำทะเล และเชื่อกันว่าเทพีไดโอนี่เป็นมเหสีองค์แรกของซูสก่อนที่จะสมรสกับเทพีเฮรา) สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของเธอได้แก่ นกกระจอก นกนางแอ่น ห่าน และเต่า ส่วนดอกไม้และผลไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพระนางได้แก่กุหลาบ Myrtle และแอปเปิล บางตำรากล่าวกันไว้ว่าพระนางเป็นเทพีผู้คุ้มครองเหล่าโสเภณีด้วย นางได้สมรสกับเฮเฟสทัส เทพแห่งการช่างที่ทีรูปร่างอัปลักษณ์และพิการ จึงทำให้นางได้มีสัมพันธ์ชู้สาวกับเทพมากมายและหนึ่งในนั้นคือ กับแอเรส หรือมาร์ส เทพแห่งสงครามบุตรของ ซูส กับ เฮร่า ต่อมาได้มีบุตรคือ 1. คิวปิด(อิรอส) เทพแห่งความรัก 2. แอนติรอส ผู้เป็นเทพแห่งรักที่ไม่สมหวัง การรักตอบ และเป็นผู้ลงโทษผู้ที่ดูถูกความรัก 3. ฮาร์โมเนีย หรือ เฮอร์ไมโอนี่ ผู้เป็นเทพีแห่งความปรองดอง บุตรกับเฮอร์มีส คือ เฮอร์มาโฟรไดตุส ซึ่งเป็นเทพผู้คุ้มครองเพศที่ 3 นอกจากนี้ยังมีบุตรเจ้าชายแอนคีซีสแห่งโทรจันซึ่งเป็นมนุษย์ 1 คน คือ อีเนียส ผู้เป็นกำลังสำคัญในสงครามแห่งทรอย
12. เฮเฟสตัส (Hephaestus) เทพแห่งไฟ โลหะและการช่าง เป็นบุตรของ ซูส กับ เฮร่า (บางตำราว่าเป็นบุตรของ เฮร่าแต่เพียงผู้เดียว ) พระองค์เป็นเทพที่พิการและอัปลักษณ์ สมรสกับเทพอะโฟรไดท์ (Aphrodite)ตามคำบัญชาของซุส
13. ไดอะไนเซิส (Dionysus) เทพแห่งไวน์ การทำไวน์ และการเก็บเกี่ยวผลไม้ และยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพแห่งละครอีกด้วย
14. เพอร์ซิโฟเน ธิดาของเทพีดีมิเทอร์ซึ่งถูกฮาเดสจับตัวไปเป็นภรรยาได้รับอนุญาตให้กลับขึ้นมาบนโลกได้ปีละไม่กี่ครั้ง และการกลับขึ้นมาแต่ละครั้งก็คือการเปลี่ยนฤดูนั่นเอง
15. อีรอส (Eros) กามเทพ รู้จักกันดีในภาษาโรมันว่า คิวปิด (Cupid) เป็นบุตรแห่งเทพีความรัก (อะโฟร์ไดต์)และ เทพการศึกสงคราม (แอเรส)
16. เฮเดส (Hades) หรือฮาเดส (อีกนามหนึ่งคือ เฮดีส Hedes) ชื่อในภาษาโรมัน'พลูโต' เทพแห่งใต้พิภพยมโลกและเจ้าแห่งความตายปกครองนรก เป็นหนึ่งใน 3 เทพผู้ยิ่งใหญ่ แต่แทบจะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปบนเขาโอลิมปัส นรกขุมที่ลึกและร้ายที่สุดคือ ทาร์ทารัส เป็นขุมที่ โครนอส เจ้าแห่งไททันพ่อของเหล่าเทพผู้ยิ่งใหญ่อยู่และเป็นเทพดูแลอัญมณีใต้ดิน ชาวกรีกจะบูชาพระองค์ก่อนเสมอที่จะลงมือทำเหมืองแร่
เทพชั้นรอง
เทพชั้นรอง (Minor gods) เป็นเทพที่ไม่ได้อยู่บนเขาโอลิมปัส มีมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งเทพเหล่านี้ต่างก็มีหน้าที่และความสำคัญต่างๆ กันไป อาทิ เช่น
โพรมีเธียส (Prometheus) พรอมิธีเอิส (ในภาษาอังกฤษ แปลว่ามองการณ์ไกล ) เป็นเทพไททันองค์หนึ่งที่มีความเฉลียวฉลาดและเป็นผู้ขโมยไฟจากเฮสเทีย เทพีแห่งเตาไฟ ลงไปให้มนุษย์จึงทำให้มนุษย์รู้จักใช้ไฟในการหุงหาอาหารและใช้เพื่อแสงสว่างจนสามารถสร้างอารยธรรมต่าง ๆ ได้จึงทำให้ซุสโกรธและลงโทษพรอมิธีเอิสด้วยการขังไว้ในถ้ำบนเทือกเขาคอเคซัส และมีอีกายักษ์มาจิกกินตับของพรอมิธีเอิสทุกวันโดยที่ไม่ตายและทุกๆคืนตับของพรอมิธีเอิสจะงอกใหม่เพื่อให้อีกายักษ์จิกกินในวันรุ่งขึ้น แต่สำหรับมนุษย์แล้วเทพพรอมิธีเอิสถือว่าเป็นเทพที่กล้าหาญ และเป็นเพื่อนที่ดีต่อมนุษย์ จึงได้รับการยกย่องและนับถือ
อีออส (Eos) เป็นชื่อกรีกส่วนออโรร่าเป็นชื่อภาษาโรมัน เทพธิดาแห่งแสงแรกของยามเช้าเป็นบุตรของเธอิอากับไฮเปอร์ริออนซึ่งเป็นพวกไตตันส์มีพี่น้องคือเซเลเน่เทพธิดาจันทราไม่ใช่อาร์เตมิสนะ) และเฮลิออส เทพแห่งสุริยัน(ไม่ใช่อพอลโลนะ)และต่อมาได้ตกหลุมรักกับไทโธนอสมนุษย์ธรรมดาและ มีบุตรนามว่า เอมาธิออนกับไทโธนอส และเธอก็ยังให้กำนิดทายาทอีกหลายคนกับชายคนอื่นด้วยมีบุตรหนึ่งคนชื่อ ฟาเอธอน (ต่อมาได้เป็นคนเฝ้าเทวสถานของอะโฟรไดที)อันเกิดกับเซฟาลุสให้กำเนิดลมและดวงดาว รวมถึงทายาท 3 คนกับแอสทราเออุสซึ่งเป็นไตตันได้แก่ ออร่า (เทพธิดาแห่งลมทะเล),ออสโฟรุส(ดาวพระศุกร์),โฟสโฟรุส(ดาวประกายพรึก)
เฮลิออส (Helios) ไฮพีริอัน (Hyperion) เป็นเทพไททัน บุตรของเทพยูเรนัสและพระแม่ธรณีเจ องค์เป็นบิดาของสุริยเทพ(เฮลิออส) จันทราเทวี(เซเลเน) และอรุโณทัย(เทวีอิออส) องค์ต่อมา คือเฮลิออส หรือเฮลิอัส (Helios หรือ Helius) เป็นบุตรของไฮพีริอันที่กล่าวไว้ข้างต้นนี้มีน้องสาวร่วมบิดามารดาอีกสององค์ คือเซเลเน เทวีจันทรา และอิออส เทวีอรุโณทัย และเป็นสุริยเทพน่าสงสารมักถูกจำสับสนอยู่เรื่อยๆกับไฮพีริผู้เป็นบิดาบ้าง กับอพอลโลบ้าง (ซึ่งเป็นเทพโอลิมเปียนด้านดวงอาทิตย์เช่นกัน) บางตำราบอกไว้ว่าเทพเฮลิออสถูกเหล่าเทพไททันทั้งหลายจับกดน้ำเพราะโมโหที่เฮลิออสไปเข้าข้างพวกเทพโอลิมเปียน จากนั้นเฮลิออสก็เลยผุดขึ้นจากห้วงสมุทร แล้วลอยขึ้นฟ้ากลายเป็นดวงอาทิตย์ไป
เทพเซเลน่า(selena) ตามตำนานเทพกรีกไททันเซเรน่า (อังกฤษ: Selene ภาษากรีก:แปลว่า "ดวงจันทร์") เป็นเทพีแห่งดวงจันทร์ดั้งเดิมและเป็นพระธิดาของไททันไฮเปอเรียน (Hyperion) และไททันเธียอา (Theia) แต่ในตำนานเทพโรมันเทพีแห่งดวงจันทร์คือเทพีลูน่า (Luna)เหมือนเช่นเทพและเทพีแห่งดวงจันทร์องค์อื่นๆ ไททันเซเรเน่มีบทบาทอย่างมากในวิหารของนาง แต่ไททันเซเรเน่กลับถูกแทนที่โดยเทพีอาร์เทมิส (Artemis) ส่วนเทพีลูน่าก็ถูกแทนที่โดยเทพีไดอาน่า (Diana)
แพน (Pan) เป็นเทพในระดับหลานของซูส เทพบดี กล่าวคือ เป็นโอรสของเทพ เฮอร์มีส กับนางพรายน้ำ อนงค์หนึ่ง แพนเป็นเทพแห่งทุ่งโล่งและดงทึบ หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เทพแห่งธรรมชาติทั้งปวง เพราะคำว่า "แพน" ในภาษากรีกแปลว่า "All" หรือทั้งหลายทั้งปวง และมีรูปร่างผิดแปลกกับเทพอื่น ๆ ที่มักสวยสง่างาม เทพแพนเป็นส่วนผสมระหว่างมนุษย์กับสัตว์คือ ร่างกายหน้าตาเป็นมนุษย์ แต่ท่อนล่างเป็นแพะบนศีรษะมีเขาเป็นแพะและมีหนวดเคราและมีบางตำนานกล่าวไว้ว่าครั้งหนึ่งเทพแพนได้ไปเห็นนางพรายน้ำตนหนึ่งที่มีความงดงามเข้า นางมีชื่อว่า ไซรินซ์ (Syrinx) และเกิดถูกชะตาต้องใจเป็นอันมากจึงติดตามตั้งใจที่จะขอความรัก แต่นางพรายน้ำไม่ยินดีด้วย เนื่องจากกลัวในรูปร่างของเทพแพนจึงวิ่งหนีไปเทพแพนก็ออกตามหาจนมาถึงริมน้ำ เมื่อนางพรายน้ำเห็นท่าว่าจะหนีไม่พ้นแน่ๆจึงร้องตะโกนขอความช่วยเหลือจากเทพแห่งท้องธารคำขอร้องของนางสัมฤทธิ์ผลเทพแห่งท้องธารสงสารนางจึงบันดาลให้นางกลายเป็นต้นอ้อประดับอยู่ริมฝั่งน้ำนั่นเองเมื่อเทพแพนมาถึง และได้รู้ความจริงก็เศร้าสร้อยมากจึงตัดต้นอ้อนั้นและมัดเข้าด้วยกันใช้เป็นเครื่องดนตรีเป่าอย่างไพเราะสืบมา
ไอริส (Iris) ไอริส (Iris) คือเทพีแห่งข่าวสารของพระนางจูโน หรืออีกนัยหนึ่งคือเทพีแห่งสายรุ้ง ชาวกรีกนิยมปลูกดอกไอริสไว้ที่หลุมศพ เนื่องจากเชื่อกันว่าเทพีไอริสคือผู้นำทางดวงวิญญาณของผู้หญิงไปสู่สุคติ (เทพเมอคิวรี่ คือผู้นำดวงวิญญาณของผู้ชาย) เนื่องจากเทพีไอริส คือ เทพีประจำพระองค์เทพีจูโน และกลายเป็นสัญลักษณ์ของการพูดจาคมคาย และความมีพลัง ชาวอียิปต์เชื่อว่า กลีบทั้งสามของไอริส หมายถึงความศรัทธาปัญญา และความกล้าหาญ
กลุ่มเทพีอิรินีอีส (The Erinyes)
โครนอส (ภาษาอังกฤษ: Cronus )เป็นผู้นำและไททัน (Titan) รุ่นแรกที่มีอายุน้อยที่สุด ซึ่งเป็นทายาทของเทพีไกอา (Gaia) พระแม่ธรณี และ เทพบิดาอูรานอสหรือเทพยูเรนัส (Uranus) เทพแห่งท้องนภา เทพโครนอสได้ทำการโค่นบัลลังก์ของพระบิดา เทพยูเรนัส และขึ้นครองบัลลังก์ในช่วงยุคทอง จนกระทั่งถูกโค่นบัลลังก์โดยพระโอรสของตนคือเทพซุส (Zeus) เทพโครนอสมิได้ถูกจองจำในยมโลกทาร์ทารัส (Tartarus) เหมือนเช่นไททันตนอื่นๆ กลับหลบหนีไป
ด้วยเหตุที่ว่าเทพโครนอสมีความเกี่ยวเนื่องกับยุคทอง เขาจึงได้รับการสักการะในฐานะเทพแห่งฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งรวมไปถึงการเก็บเกี่ยวพืชผลเช่น ข้าว ธรรมชาติ ผลผลิตทางการเกษตร และการเดินไปข้างหน้าของกาลเวลาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ภาพของเทพโครนอสมักถือเคียวไว้ในมือ ซึ่งพระองค์ใช้ในการเก็บเกี่ยวพืชผล และเป็นอาวุธที่พระองค์ใช้โค่นบัลลังก์เทพยูเรนัส ในกรุงเอเธนส์ (Athens) วันที่ 12 ของทุกๆ เดือน ถูกเรียกว่า วันฮีคาทอมบาเอียน (Hekatombaion) ซึ่งจะมีงานเทศกาลชื่อว่า เทศกาลโครเนีย (Kronia) จะจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เทพโครเนิสสำหรับฤดูเก็บเกี่ยว พระนามของเทพโครนอสในตำนานเทพปกรณัมโรมันคือ เทพแซทเทิร์น (Saturn)
พวกอมนุษย์
พวกอมนุษย์ (The Immortals) กลุ่มนี้จะเป็นพวกนางไม้ (Nymphs) ที่อยู่ตามป่า แม่น้ำ ลำธาร ถ้ำ หรือ ในทะเล หรือพวกสัตว์ประหลาดอย่างเช่น ยักษ์ตาเดียว ฯลฯ เหล่าอมุนษย์ของกรีกนั้นมีมากพอๆ กับพวกเทพเจ้า ดังนั้นจะขอเอ่ยถึงเฉพาะวีรบุรุษที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันมากเท่านั้น เช่น
นางไม้เอ็คโค่ (Echo) เป็นนิมป์ (คือเหล่านางอัปสรหรือนางไม้ที่มักจะพบเจอในตำนานกรีก-โรมันซึ่งรูปลักษณ์ของพวกหล่อนจะเป็นหญิงสาวที่มีหน้าตาสวยงามเพราะคำว่า nymph นั้นในภาษากรีกมี ความหมายว่า "young woman" ที่แปลว่าสาวแรกรุ่น) และนิมป์กลุ่มของออรีสบังเอิญดันเป็นที่ถูกตาต้องใจของเทพซุส (Zeus) จอมเจ้าชู้ที่ชอบแอบมาพัวพันฉันชู้สาวกับเหล่านิมป์พวกนี้จนเทวีเฮรา (Hera) ผู้เป็นมเหสีเอกต้องตามหึงตามหวงเป็นประจำ ด้วยเหตุนี้มีอยู่ว่าวันหนึ่งในขณะที่เทพซุสกำลังเพลิดเพลินกับบรรดานิมป์สาวๆ เทวีเฮราก็ต้องตามมาอาละวาด เอ็คโค่ก็เลยต้องการช่วยเหลือเพื่อนทุกคนเธอจึงแกล้งถ่วงเวลาโดยการชวนเฮราพูดคุยเรื่อยเปื่อยแบบไม่มีทีท่าว่าจะหุบปากเพื่อจะดึงความสนใจของเฮราจากการตามหาเทพซุส กระทั่งเทพซุสและเหล่านิมป์นางอื่นๆไม่อยู่ในที่เกิดเหตุแล้ว เมื่อรู้ว่าตนถูกหลอกก็โกรธมาก จึงทำโทษเธอโดยการสาปเอ็คโค่ให้ไม่สามารถพูดได้ตนเองจะพูดได้ก็แต่คำลงท้ายที่คนอื่นเขาพูดเท่านั้น
แซนทอร์ (Cantaurs) เซนทอร์ (อังกฤษ: centaur; มาจากภาษากรีกโบราณ) เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งในเทพกรีกมีร่างส่วนบนเป็นมนุษย์ผู้ชาย แต่ส่วนลำตัวลงไปเป็นม้าหนุ่มที่มีกล้ามเนื้อที่สง่างามซึ่งอาศัยอยู่แถบภูเขาของอาคาเดีย และ เทสสาลีในประเทศกรีซ เซนทอร์มีสองตระกูล โดยตระกูลหนึ่งเกิดจาก อิคซอน อันธพาลแห่งสวรรค์ที่ขึ้นชื่อกับอีกตระกูลที่เกิดจากโครนัส ที่มีอุปนิสัยที่ดีกว่ามากตระกูลอิคซอนเกิดจากอิคซอนกับเนฟีลีที่มีพละกำลังมาก ชอบดื่มไวน์กับชอบไล่คว้าผู้หญิง และชอบทะเลาะเวลาเมา เซนทอร์จึงถูกมองว่าเป็นพวกขี้เมาไม่กลัวใครทั้งสิ้น ส่วนตระกูลโครนัสต่างกับตระกูลอิคซอน เป็นเซนทอร์ที่แสนดี โครนัสแต่งงานกับฟีลีร่า นางอัปสรน้ำผู้เลอโฉม มีลูกชื่อไครอน ซึ่งเป็นผู้คงแก่เรียน มีความสุขุมรอบคอบจนได้รับเลือกให้เป็นอาจารย์ของเหล่าวีรบุรุษหลายคนในตำนานกรีก เช่น อคิลลีส, เฮอร์คิวลีส, เจสัน, พีลูส, อีเนียส และบรรดาลูกศิษย์ของเขาก็ประพฤติตัวตามแบบอาจารย์ได้เป็นอย่างดี
ยักษ์ไซคลอปส์ หรือ ยักษ์ตาเดียว(The Cyclops) ชื่อไซคลอปส์ถูกใช้ระบุถึงยักษ์ตาเดียวสองชนิด คือ กลุ่มที่หนึ่งเป็นลูกของเจ้านภา ยูเรนัสและพระแม่ธรณี ไกอา จะถือค้อนอันใหญ่ มีพลังแห่งสายฟ้า และมีฝีมือในด้านช่างเหล็ก ไซคลอปส์กลุ่มนี้ถูกยูเรนัสกักขังไว้ในทาทารัส จนกระทั่งซุสปลดปล่อยออกมาหลังจากที่โค่นโครนัสผู้เป็นบิดาซึ่งไซคลอปส์ได้ตอบแทนโดยตีอาวุธต่างๆให้เหล่าเทพและเหล่าไซคลอปส์ได้เป็นลูกมือของเทพแห่งช่างเหล็กเฮฟเฟสตุสในเวลาต่อมา จนกระทั่งถูกอพอลโลสังหารเพื่อล้างแค้นให้แอสคิวลาปิอัสที่ถูกซุสใช้สายฟ้าฟาด และกลุ่มที่สองเป็นลูกหลานของโพเซดอนและพรายน้ำโทซา
กลุ่มนี้กินมนุษย์เป็นอาหาร โดยมีบทบาทในเรื่องโอดิสซีย์ ไซคลอปส์มีความนิยมมากเหมือนกัน เช่นไซคลอปส์ในการ์ตูน ไซคลอปส์ในเกม
ปีศาจฮาร์พีส์ (Harpies)
เนดส์,ไนแอด (Naiads) นางไม้ที่อยู่ตามแหล่งน้ำ
นางพรายทะเลโอเซียนิดส์ (The Oceanids)
นางไม้อมัลเธีย (Amalthea)
ซาไทร์ (Satyrs)
แม่มดเมดูซ่า (Medusa)
ยักษ์แอทลาส (Atlas) ยักษ์ไททันที่โดนสาปให้แบกผืนฟ้า
เมดูซ่า หัวเป็นงู เดิมเป็นหญิงสาวสวยแต่ถูกเทพีอาธีน่าสาป สามารถทำให้สิ่งมีชีวิตเป็นหินได้
อีคิดน่า เป็นมารดาของสัตว์ประหลาดมากมาย
โพรครัสเตส จอมขึง
แครอน คนแจวเรือข้ามแม่น้ำสติ๊กซ์เพื่อนำดวงวิญญาณคนตายไปยมโลก
เซอร์บีรัส สุนัขสามหัว เฝ้าประตูนรก
นกสติมฟาเลียน นกกินคน มีปีกทองเหลืองแหลมคม
ฮิปโปแคมปัส มีส่วนบนเป็นม้า ส่วนล่างเป็นปลา อยู่ในทะเล
สไคเธียน ดราซีนา นางไม่อสรพิษ ส่วนบนเป็นผู้หญิง ส่วนล่างเป็นงู
ไฮดรา อสุรกายในปกรณัม มีหัวมากมาย หายใจเป็นพิษ เมื่อถูกตัดหัวไป 1 หัว จะมีหัวงอกมาใหม่แบบทวีคูณ
เพกาซัส ม้ามีปีก สวยงาม รูปร่างกำยำ
แมนติคอร์ มีร่างเป็นสิงโต หน้าตาเป็นมนุษย์ หางผสมระหว่างหางสิงโตกับแมงป่อง สามารถสะบัดหนามพิษใส่ศัตรู แต่ไม่ทำร้ายช้าง
ลาดอน มังกรร้อยหัว ทำหน้าที่เฝ้าสวนเฮสเพอริดีสสวนที่มีต้นแอปเปิ้ลทองคำอยู่
นางไม้เฮสเพอริดีส นางไม้ 4 ตนผู้ดูแลสวนเฮสเพอริดีส
ยักษ์เลสทรีโกเนียน เผ่าพันธุ์ยักษ์กินคนในตำนาน
แซนเทอร์ ครึ่งตัวบนเป็นคนแต่ครึ่งตัวล่างเป็นม้า รูปงาม กล้ามบึก
ปีศาจฮาร์พีส์ มีร่างกายเกือบเป็นผู้หญิง ท่อนล่างเป็นนก และมีปีก
ยักษ์แอทลาส ยักษ์ไททันที่โดนสาปให้แบกผืนฟ้า
แซเทอร์ ครึ่งตัวบนเป็นมนุษย์แอบมีเขาเพะ ครึ่งตัวล่างเป็นเพะ มีกีบเท้า
มิโนเทอร์ มนุษย์กระทิง จากนรก
ดี อิมมอร์ทาเลส สุนัขปีศาจจากขุมนรกแห่งการลงทัณฑ์
พวกเลือดผสม
พวกเลือดผสม (Demigod) มีเชื้อสายเป็นบุตร-ธิดาของเหล่าเทพเจ้าองค์ต่างๆ กลุ่มนี้จะรวมทั้งเหล่าวีรบุรุษและวีรสตรีของกรีกด้วย (The Heroes and Heroines) เหล่าวีรบุรุษและวีรสตรีของกรีกนั้น มีมากพอๆ กับพวกเทพเจ้า ดังนั้นจะขอกล่าวถึงเฉพาะวีรบุรุษที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันมากเท่านั้น
เฮอร์คิวลีส (Hercules) บุตรแห่งซุสเป็นผู้ที่ทำภารกิจทั้ง 12 ประการได้สำเร็จ เป็นผู้ที่มีพละกำลังมากที่สุดในกรีก นอกจากนั้นยังสร้างวีรกรรมอีกมากมาย
โอดีสซุซ (Odysseus) เป็นวีรบุรุษในสงครามกรุงทรอย เนื่องจากเป็นผู้คิดประดิษฐ์ม้าไม้ขึ้น และยังได้ผจญภัยในที่ต่างๆ อีกถึง 20 ปี ก่อนที่จะได้กลับบ้าน
เจสัน (Jason) เป็นหัวหน้าคณะ Argonaut ไปตามหาขนแกะทองคำ
เพอร์ซิอุส (Perseus) บุตรแห่งซุสซึ่งมีแม่เป็นมนุษย์ เป็นผู้สังหาร เมดูซ่า ได้สำเร็จ และยังเป็นผู้แก้ปมปริศนาของสายฟ้าและเรื่องขัดแย้งระหว่างซุส โพไซดอน และ ฮาร์เดสได้
เบลเลอโรฟอน (Bellerophon) เป็นผู้จับที่เพกาซัสได้แล้วขี่มันไปสังหารไคเมร่า
ธีซีอุส (Theseus) เป็นผู้สังหาร Minotaur ได้สำเร็จ
อตาลันต้า (Atalanta) เป็นคนแรกที่ทำให้หมูป่าคาลิโดเนี่ย (Caledonian) บาดเจ็บได้ และเป็นผู้สังหาร Centaur ได้
มีแลมพัส (Melampus)
โอดิพัส (Oedipus)
อคิลลีส (Achilles) วีรบุรุษในตำนานกรีกมหากาพย์อีเลียด ในสงครามกรุงทรอย เมื่อแรกเกิดมารดาได้จุ่มเขาลงไปในแม่น้ำสติกซ์ ทำให้เขาคงกระพันฟันแทงไม่เข้า ยกเว้นจุดเดียวคอเหนือข้อเท้าซึ่งเป็นตำแหน่งที่มารดาจับเขาจุ่มน้ำนั่นเอง
เฮกเตอร์ (Hector) เจ้าชายแห่งเมืองทรอย เป็นวีรบุรุษในตำนานกรีกโบราณว่าด้วยเรื่องสงครามเมืองทรอย เขาเป็นโอรสของท้าวเพรียมและนางเฮคคิวบา ผู้ครองเมืองทรอย ณ เชิงขุนเขาไอดา เป็นพี่ชายของปารีส ผู้ชิงตัวนางเฮเลนมาจากเมนนิลิอัส เฮกเตอร์ได้รับยกย่องเป็นหนึ่งในเก้าผู้ยิ่งใหญ่ (The Nine Worthies) ซึ่งประกอบด้วยความกล้าหาญและเกียรติยศ ดังนั้นไม่ว่าเขาจะเห็นด้วยกับการกระทำของน้องชายหรือไม่ แต่ก็นำทัพออกปกป้องบ้านเมืองและครอบครัวอย่างเต็มกำลัง ในสงครามเมืองทรอย เฮกเตอร์ได้ประลองกับอจักซ์ ผู้มีฉายาว่าจอมพลัง เป็นเวลาถึงวันกับคืนโดยไม่มีผู้ใดแพ้ชนะ ต่อมาทั้งสองได้ชื่นชมกันและกัน เฮกเตอร์มอบดาบแก่อจักซ์ ส่วนอจักซ์มอบเข็มขัดให้เป็นที่ระลึก
โอเรสเตส (Orestes)
แอ็ดมิทัส และ อัลเซสติส (Admetus + Alcestis)
อีนีอัส (Aeneas) บุตรของ แอนไคซีส (Anchises) กับ อะโฟรไดตี (Aphrodite)
แคสเตอร์ และ พอลลักซ์ (Caster + Pollux) เป็นวีรบุรุษคู่แฝด เกิดมาจากไข่ของเลดานางมาวางทิ้งไว้หลังจากที่ได้มีความสัมพันธ์กับเทพเซอุสที่ได้จำแลงกายเป็นหงส์หนุ่มมาล่อลวงนางแต่ตามตวามสัมพันธ์ทางสายเลือดพอลลักซ์จะเป็นลูกของเทพเซอุสในขณะที่คาสเตอร์เป็นลูกของ ทินดาเรอุส สามีของนางเลดา ฝาแฝดคู่นี้ถูกเลี้ยงดูมโดยคนครึ่งม้าที่มีชื่อว่า ไครอน(กลุ่มดาวราศีธนูในปัจจุบันนี้)
ซิซิฟัส (Sisyphus) วีรบุรุษกรีกที่มีชื่อเสียงเพราะบทลงโทษ มากกว่าสิ่งที่เขากระทำ บางตำนานบอกว่าต้องต่อสู้กับความตาย และถูกล่ามไว้ด้วยโซ่ ก่อนถูกสยบใต้คมดาบเทพสงครามมาร์ส บางตำนานบอกว่าได้ขอเวลามัจจุราชขึ้นไปท่องเที่ยวพื้นพิภพอาทิตย์หนึ่ง แต่กลับผิดสัญญาหลบหนีการตามล่าของทวยเทพ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม บทลงโทษของเขาเป็นที่รู้จักกันอย่างดีคือถูกสั่งให้แบกหินขึ้นยอดผา ทันทีที่ไปถึงยอด ก้อนหินกลิ้งกลับลงพื้นราบ เขาต้องไต่ขึ้น ไต่ลง แบกก้อนหินเช่นนี้อยู่ชั่วนิรันดร
ไมดัส (King Midas)
แทนทาลัส (Tantalus) เป็นโอรสของเทพซีอุสและมีความสนิทชิดเชื้อกับเหล่าเทพเจ้าเป็นอย่างดี ถึงขนาดที่บางครั้งทวยเทพก็อนุญาตให้ขึ้นไปร่วมโต๊ะเสวยบนยอดเขาโอลิมปัส และบางครั้งเทพเจ้าก็ลงมาร่วมโต๊ะเสวยที่เมืองของท้าวแทนทาลัสด้วยทำให้ท้าวแทนทาลัสเกิดความชะล่าคิดว่าตนยิ่งใหญ่ถึงขนาดแอบเอาอาหารทิพย์จากเขาโอลิมปัสลงมาแจกจ่ายพระสหายอยู่บ่อยๆ วันหนึ่งเกิดอยากรู้ว่า เทพเจ้านั้นมีญาณทิพย์รู้ทุกอย่างจริงไหมจึงฆ่าโอรสของตนองค์หนึ่ง ชื่อ พีลอปส์ (Pelops) แล้วเอาเนื้อมาต้มให้เหล่าเทพทเสวยเพื่อเป็นการทดสอบเทพทุกองค์ไม่ยอมเสวยอาหารมื้อนั้น เว้นแต่เทวีดีมิเทอร์ ที่กำลังใจลอยคิดถึงธิดาของเธอ คือ เพอร์ซีโฟเน่ ซึ่งถูกเทพฮาเดสลักพาตัวไป จึงไม่ทันระวังและเสวยเนื้อบริเวณส่วนไหล่ของพีลอปส์เข้าไป เมื่อเหล่าเทพช่วยกันชุบชีวิตพีลอปส์ขึ้นมาจึงไม่มีเนื้อส่วนไหล่ชิ้นนั้น ผลของการกระทำในครั้งนี้ทำให้ถูกลงโทษด้วยการล่ามโซ่ตรึงให้ยืนแช่น้ำทะเลสาบในยมโลก โดยมีต้นไม้ผลดกเต็มอยู่เหนือศีรษะล่ออยู่ใกล้ปาก เมื่อเงยหน้าจะกัดกินผลไม้ๆจะถอยหนีขึ้นไปจนสุดเอื้อม หากจะกินน้ำๆก็จะลดระดับลงจนไม่สามารถกินได้ และมีก้อนหินใหญ่ลอยอยู่เบื้องบนพร้อมที่จะตกลงมาทับทุกเมื่อ เป็นอยู่อย่างนี้ไปชั่วนิรันดร
แคดมัส (Cadmus) ผู้สร้างเมืองธีบส์ซึ่งเป็นพี่ ของนาง ยุโรปา
ออร์ฟิอัส (Orpheus)เป็นบุตรแห่งเทพอพอลโลกับนางคัลลิโอพี ฝีมือในการบรรเลงพิณอย่างแสนไพเราะ มีมนต์ขลังถึงขนาดทำให้สัตว์ร้ายสงบลงและชักจูงจิตใจคนอีกด้วย เมื่อครั้งที่เจสันล่องเรืออาร์โก ออกตามหาขนแกะทองคำ ก็ได้ออร์ฟิอัสนี้เอง ช่วยบรรเลงพิณให้พวกฝีพาย มีกำลังวังชาพายต่อไปอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย บรรเลงเพื่อระงับโทสะของลูกเรือที่จะวิวาทกัน และที่สำคัญที่สุดคือบรรเลงกลบเสียงร้องเพลงของพวกไซเรน (Sirens) ที่ร้องเพื่อล่อลวงนักเดินเรือให้เข้าไปเป็นเหยื่อ
เทพไททัน เป็นเทพสิบสององค์ที่เรืองอำนาจในช่วงยุคทอง (Golden Age) และถูกล้มล้างอำนาจไปโดยเทพโอลิมเปียน (Olympian)
เทพไททันตามตำนานของชาวกรีก
ตามตำนานของชาวกรีกเป็นเทพรุ่นเก่าซึ่งถูกชิงอำนาจไปโดยเหล่าเทพโอลิมเปียน เหล่าเทพไททันเป็นบุตรของเทพีไกอา และเทพยูเรนัส มีจำนวน 12 องค์ คือ1.โอเชียนุส 2.โคเออุส 3.คริอุส 4.ฮิปเพอริออน 5.ลาเพทุส 6.ไธอา 7.รีอา 8.ธีมิส 9.นีโมซินี 10.ฟีบี 11.ทีธิส และ12.โครนัส และในภายหลังได้มีการเพิ่ม ไดโอนี เข้ามาเป็นเทพีไททันองค์ที่ 13 ด้วย
เทพไททันเป็นหนึ่งในบรรดาลูกของไกอาที่ถูกยูเรนัสโยนลงไปในพื้นใต้พิภพ ไกอาเคียดแค้นกับการกระทำของยูเรนัสมาก จึงได้ชักชวนบุตรของตนให้รวมตัวกันล้มล้างอำนาจของยูเรนัส
โครนอสผู้เป็นบุตรองค์สุดท้องอาสาที่จำทำการกบฏนี้ และล้มล้างอำนาจของยูเรนัสได้สำเร็จ โครนัสจึงได้ชักชวนเหล่าเทพไททันอื่นๆให้ขึ้นมาครอบพื้นพิภพ แต่ไม่ยอมช่วยเหล่าอสุรกายอัปลักษณ์ที่เป็นลูกตนอื่นๆของไกอาขึ้นมาด้วย ไกอาจึงสาปแช่งให้โครนัสต้องถูกลูกของตนยึดอำนาจเช่นเดียวกับที่โครนัสได้ทำกับยูเรนัส คำสาปของไกอาประสบผลเมื่อเทพโอลิมเปียนได้ถือกำเนิดขึ้นและยึดอำนาจจากโครนอส
เทพไททันตามตำนานของชาวเพลาสเกียน
ตามตำนานของชาวเพลาสเกียนเทพไททันเป็นเทพรุ่นแรกของโลก เป็นเทพที่มีอำนาจเหนือดวงดาวต่างๆในจักรวาล ถูกสร้างขึ้นโดยเทพียูริโนมี (Eurynome) มีจำนวนทั้งหมด 12 องค์ คือ
1.เทพีไธอา 2.เทพไฮเพอริออน 3.เทพีฟีบี 4.เทพแอตลาส 5.เทพีไดโอนี 6.เทพคริอุส 7.เทพีธีมิส 8.เทพยูริมีดอน 9.เทพีทีธิส 10.เทพโอเชียนุส 11.เทพีรีอา 12.เทพโครนัส โดยเทพีไธอและเทพไฮเพอริออนครอบครองดวงอาทิตย์ เทพีฟีบีและเทพแอตลาสครอบครองดวงจันทร์ เทพีไดโอนีและเทพครีอุสครอบครองดาวพุธ เทพีธีมิสและเทพยูริมีดอนครอบครองดาวพฤหัสบดี เทพีทีธิสและเทพโอเชียนุสครอบครองดาวศุกร์ และเทพีรีอาและเทพโครนัสครอบครองดาวเสาร์
แนะนำทวยเทพโอลิมปัส
สภาเทพแห่งโอลิมปัส เป็นเหล่าทวยเทพสูงสุดตามความเชื่อของชาวกรีกโบราณ มีทั้งหมด 12 องค์ สถิตย์อยู่ ณ เขาโอลิมปัส ซึ่งเป็นเขาที่มีอยู่จริงในประเทศกรีซ โดยเป็นเขาที่สูงสุดในกรีซ
ซูส (Zeus) เป็นเทพที่ใหญ่ที่สุด ปกครองสวรรค์และทวยเทพทั้งมวล เทพแห่งท้องนภา
รูปภาพซูส
โพไซดอน (Poseidon) เทพแห่งท้องทะเลและแม่น้ำ น้ำท่วมและแผ่นดินไหว เป็นน้องชายของเทพซุส
รูปภาพโพไซดอน
เฮรา (Hera) ชายาของซูส องค์ราชินีแห่งสรวงสรรค์และดวงดาว แห่งการสมรสและความจงรักภักดี

รูปภาพเฮรา
อพอลโล (Apollo) โอรสของซูส เทพแห่งดวงอาทิตย์(แสง) เทพแห่งศิลปวิทยาการ การรักษา การพยากรณ์ทำนาย การแพทย์ และการธนู
รูปภาพอพอลโล
อาร์เทมีส (Artemis) ฝาแฝดหญิงกับอพอลโล่ เทพีแห่งดวงจันทร์ แห่งการล่าสัตว์ เหล่าสัตว์ป่า และเทพีผู้ดูแลปกป้องหญิงสาว
รูปภาพอาร์เทมีส
อะธีนา (Athena) ธิดาอีกองค์หนึ่งของซูส เทพีแห่งสงคราม แห่งปัญญา งานหัตถกรรม (โดยเฉพาะงานทอผ้า ปั้นหม้อ และงานไม้) ศิลปาการ และกลยุทธ์
รูปภาพอะธีนา
เฮฟเฟสตุส (Hephaestus) เทพแห่งการตีเหล็ก เทพแห่งไฟ
รูปภาพเฮฟเฟสตุส
อาเรส (Ares) เทพแห่งสงคราม
รูปภาพอาเรส
อโฟรไดท์ (Aphordite) เทพีแห่งความรัก และความปราถนา ความงาม
รูปภาพอโฟรไดท์
เฮอร์มีส (Hermes) เทพแห่งการค้า การโจรกรรม และผู้ส่งสารของเหล่าทวยเทพ
รูปภาพเฮอร์มีส
เฮสเทีย (Hestia) เทพแห่งการครองเรือน และครอบครัว
รูปภาพเฮสเทียร์
ดีมิเตอร์ (Demeter) เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ เตาไฟ และการเก็บเกี่ยว

รูปภาพดีมิเตอร์
สำหรับ ฮาเดส (Hades) เทพปกครองโลกที่อยู่เบื้องล่าง และเป็นน้องชายของจอมเทพซุส แต่เดิมเคยถูกจัดอยู่ใน 12 เทพโอลิมปัสด้วย แต่ตัดออกจากกลุ่มในภายหลัง
รูปภาพฮาเดส (Hades)
ธรรมเนียมเอาเงินใส่ปากคนตายก่อนฝัง
นอกจากแม่น้ำสองสาย ยังมีแม่น้ำอีก 3 สาย คือ
1. แม่น้ำสติกซ์ (Styx) แปลว่าแม่น้ำแห่งควาเกลียด เป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์
2. แม่น้ำลีธี หรือ เลเธ แปลว่าแม่น้ำแห่งความลืม เมื่อดวงวิญญาณคนตายได้ดิ่มน้ำแล้วจะลืมความหลัง
3. แม่น้ำเฟลจีธอน หรือ เฟลเกทธอน แม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำไฟ มีเปลวไฟลุกไหม้โชติช่วงอยู่บนผิวน้ำ และอยู่ล้อมรอบนรกขุมลึกสุด คือ ทาร์ทะรัส
อ้างอิง
Alan Cameron Greek Mythography in the Roman World (2005) OUP, Oxford (reviewed by T P Wiseman in Times Literary Supplement 13 May 2005 page 29)
Lexicon Iconographicum Mythologiae Classicae (LIMC) (1981-1999) Artemis-Verlag, 9 volumes.
คอมมอนส์ มีภาพและสื่ออื่นๆ เกี่ยวกับ ตำนานเทพเจ้าโรมัน
Fernandes, Ângela, "Human values and spiritual values: Traces of Prometheus in Portuguese literature and criticism", in journal Neohelicon, Akadémiai Kiadó, co-published with Springer Science+Business Media B.V., Volume 34, Number 1 / June, 2007, pp. 41–49
Kerényi, Carl, (Translated by Ralph Manheim) "Prometheus: Archetypal Image of Human Existence", Princeton University Press, 1997. ISBN 069101907X
Alexander, Hartley Burr. The Mythology of All Races. Vol 10: North American. Boston, 1916.
Beall, E.F., Hesiod's Prometheus and Development in Myth, Journal of the History of Ideas, Vol. 52, No. 3 (Jul. – Sep., 1991), pp. 355–371
Dougherty, Carol. Prometheus. Taylor & Francis, 2006. ISBN 0415324068, 9780415324069
Erdoes, Richard and Alfonso Ortiz, edds. American Indian Myths and Legends. New York, 1984.
Fortson, Benjamin. Indo-European Language and Culture: An Introduction. Blackwell Publishing, 2004.
Judson, Katharine B. Myths and Legends of the Pacific Northwest. Chicago, 1912.
Lamberton, Robert. Hesiod, Yale University Press, 1988. ISBN 0300040687
Swanton, John. "Myths and Tales of the Southeastern Indians." Bureau of American Ethnology Bulletin 88: 1929.
Verdenius, Willem Jacob, "A Commentary on Hesiod: Works and Days, Vv. 1–382", Brill, 1985, ISBN 9004074651
West, M.L., "Hesiod, Theogony, ed. with prolegomena and commentary", Oxford: Clarendon Press 1966
West, M.L., "Hesiod, Works and Days, ed. with prolegomena and commentary", Oxford: Clarendon Press 1978
Westervelt, W.D. Legends of Maui – a Demigod of Polynesia, and of His Mother Hina. Honolulu, 1910.
Williamson, George S. The Longing for Myth in Germany: Religion and Aesthetic Culture from Romanticism to Nietzsche (Chicago, 2004).
http://www.thaigoodview.com/library/.../2549/m3.../page05.html
Bibliotheke of Pseudo-Apollodorus, 1.2.2; เฮซิออด (Hesiod) ได้เขียนรายนามผู้สืบเชื้อสายของไททันไฮเปอเรียน และไททันเธียอาไว้ใน Theogony บรรทัดที่ 371ff. ใน Homeric Hymn แด่ไททันเฮลิออส (Helios) ไททันเธียอาได้รับนามว่า "ยูริฟาเอสซา" (Euryphaessa) ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ "ส่องสว่างกว้างไกล" อันเป็นฉายานามที่จะใช้กับไททันเซเรเน่
Edith Hamilton. Mythology. Mentor, Penguin Books. 1969.
นายตำรา ณ เมืองใต้ แปล. อัลเฟรด เจ. เชิร์ช เล่าความ. โฮเมอร์ แต่ง. อีเลียด (ILIAD). ดอกหญ้า. 2536 (1993).
H. D. F. Kitto. The Greeks. Penguin Books. 1957.
William Smith. Classical Dictionary. Wordsworth. 1996.
Mary Wood Cornog. Merriam Webster's Vocabulary Builder. Merriam-Webster. 1994.
Webster's Encyclopedic Unabridged Dictionary of the English Language. Merriam-Webster. 1989.
นพพร สุวรรณพานิช. สันติ อิศโร. พจนานุกรม อังกฤษ-ไทย ฉบับตำนานคำ. สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก. 2542 (1999).
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น